LinkedIn คือหนึ่งในแพลตฟอร์มสำคัญที่วัยทำงานยุคนี้ต้องมี แม้ว่าในประเทศไทยจะมีผู้ใช้เพียงแค่ 3.3 ล้านคนหรือประมาณ 4.7% ของจำนวนประชากรเท่านั้น แต่ก็ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ทรงพลังในด้านการหางานและสร้างคอนเนกชันในการทำงานอยู่ดี ปีนี้ใครยังไม่สร้างโปรไฟล์ก็ควรจะมีไว้ได้แล้ว เพราะถึงแม้ว่าคุณจะยังไม่ได้ต้องการเปลี่ยนงานหรือหางานใหม่ตอนนี้ แต่เชื่อเถอะว่า LinkedIn จะเปิดโลกการทำงานให้คุณได้มากกว่าที่คิด เพราะบางคนก็ได้รู้จักคนใหม่ๆ งานใหม่ หรือไปจนถึงได้ Offer งานจากแพลตฟอร์มนี้เลยก็มี
Q Hunter จะพามาดูกันว่า ถ้าอยากทำให้ โปรไฟล์ LinkedIn ของเราดูดีและมีโอกาสได้งาน จะต้องมีข้อมูลอะไรบ้าง
1. เลือกรูปโปรไฟล์ให้ดูน่าเชื่อถือ
LinkedIn ต่างจาก Social Media อื่นๆ ตรงที่คนส่วนใหญ่มักจะใช้หางาน สมัครงาน และสร้างคอนเนกชันกันในนี้ ดังนั้นรูปที่เราเลือกใช้เป็นรูปโปรไฟล์ ก็ควรเป็นรูปที่ดูน่าเชื่อถือ เหมาะสมกับตำแหน่งงานที่เรากำลังทำ และไม่จำเป็นต้องใช้รูปติดบัตรที่ดูทางการจนเกินไป
2. เขียน Headline ให้น่าอ่าน
Headline คือส่วนที่จะอยู่ใต้ชื่อของคุณบนโปรไฟล์ LinkedIn และจะเป็นสิ่งแรกที่ผู้เยี่ยมชมโปรไฟล์อ่าน ซึ่งกำหนดให้ใส่ได้ 120 ตัวอักษร ให้คิดซะว่าที่คือป้ายโฆษณาเล็กๆ ของเรา นอกจากจะบอกตำแหน่งงานที่คุณทำอยู่ ควรใส่ความเชี่ยวชาญพิเศษ หรือประสบการณ์สำคัญหรือความสำเร็จลงไปด้วย เพื่อช่วยให้โปรไฟล์ของคุณดูพิเศษขึ้น
3. เขียนบทสรุปให้น่าสนใจ
ข้อมูลที่เป็นส่วนบทสรุปใน LinkedIn เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เราได้เล่าเรื่องตัวเองถึง 2,000 ตัวอักษร ความยากคือเราต้องเขียนเรียบเรียงประสบการณ์ที่ผ่านมาให้น่าสนใจ อาจจะเล่าถึงตำแหน่งที่เคยทำ สิ่งที่เราทำได้ดี เรื่องที่สนใจเป็นพิเศษ ไปจนถึงงานที่อยากทำในอนาคต เผื่อว่านายจ้างในอนาคตมาเห็นและถูกใจ เราอาจจะได้ Offer จากที่ใหม่ก็ได้
4. ใช้ Keyword ที่ถูกต้อง
เมื่อคุณสร้างข้อมูลสรุปและส่วนอื่นๆ ในโปรไฟล์ของ LinkedIn แล้ว อย่าลืมใส่ Keyword ที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องด้วย การใช้ Keyword อย่างเหมาะสมเป็นหนึ่งในสิ่งที่ควรทำ ควรเป็น Keyword ที่เกี่ยวข้องกับงานหรือสาขาที่คุณสนใจ เพื่อให้ LinkedIn สามารถแนะนำคนที่สนใจหรืออยู่ในแวดวงเดียวกันให้คุณได้
5. ใส่เฉพาะประสบการณ์สำคัญ
โปรไฟล์ LinkedIn ที่น่าสนใจ ต้องไม่เหมือนการตัดแปะเรซูเม่ลงไป ถึงแม้จะไม่มีข้อกำหนดเรื่องจำนวนหน้าเหมือนการเขียนเรซูเม่ แต่ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วโลกสมาธิสั้นเกินกว่าจะอ่านเนื้อหายาวๆ ที่ไม่มีบทสรุป เราจึงควรเขียนเฉพาะประสบการณ์สำคัญในการทำงาน เช่น ความสำเร็จหรือผลลัพธ์ในการทำงานแต่ละโปรเจกต์ที่ผ่านมา
6. บอกทักษะที่เราได้ดี
อย่าลืมข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ทักษะในการทำงานของคุณ เมื่อมี Recruiter เข้ามาดูโปรไฟล์ของคุณจะได้รู้ว่าคุณมีทักษะอะไรบ้างที่จำเป็นในการทำงานตำแหน่งนี้ และมีการอัพเดทหรือการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพิ่มไหม ถ้ามีก็ควรอัพเดทในโปรไฟล์อยู่เสมอ เพื่อบอกให้คนอื่นรู้ว่าคุณทำอะไรได้บ้าง
7. ทำให้โปรไฟล์แอ็คทีฟอยู่เสมอ
LinkedIn ไม่ใช่แค่เรซูเม่ออนไลน์ที่สร้างแล้วจะปล่อยทิ้งร้างไว้แล้วได้งาน แต่การจะหางานจากแพลตฟอร์มนี้ เราต้องใช้งานอย่างแอ็คทีฟอยู่เสมอ เช่น สร้างเครือข่ายใน LinkedIn, สื่อสารกับคนอื่น ทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ, โพสต์สิ่งที่เกี่ยวข้องกับงานของเรา, อัพเดทสิ่งที่คนอื่นๆ ในอุตสาหกรรมทำ, ไลค์และแชร์โพสต์ที่คิดว่าเป็นประโยชน์กับตัวเองและเครือข่ายของคุณ, สมัครงานบน LinkedIn ฯลฯ พูดง่ายๆ คือใช้ LinkedIn อย่างสม่ำเสมอ เสมือนเป็นอีก Social Network หนึ่งของคุณนั่นเอง
ถ้ายังไม่รู้จะเริ่มยังไง ให้เข้าไปดูโปรไฟล์ของคนที่เราชอบเป็นตัวอย่าง แล้วนำมาปรับใช้กับของตัวเองดู ค่อยๆ ปรับและเรียนรู้ไปโปรไฟล์ของเราก็จะดูดีขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือข้อมูลทุกอย่างที่เขียนไว้ต้องเป็นความจริงด้วยนะ
Q Hunter - Matching the right people at the first time
บริษัทจัดหางานที่มีตำแหน่งงานดีๆ รอคุณอยู่ ฝาก Resume ไว้ได้เลยที่ Apply here
สนใจบริการสรรหาพนักงานสามารถติดต่อได้ที่ Contact Us