ความท้าทายของ ‘ฝ่ายทรัพยากรบุคคล’ หรือ ‘HR’ นอกจากจะต้องคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมเข้ามาร่วมงานในบริษัทแล้ว ยังต้องดูแลและพัฒนาบุคคลกรให้สอดคล้องกับทิศทางของบริษัทท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในสังคมที่เกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลา วันนี้ Q Hunter จึงได้รวบรวม 10 เทรนด์การทำงานของ HR จากบทความของ David Green ผู้อำนวยการบริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลระดับโลกอย่าง Insight222 และผู้ร่วมเขียนหนังสือ Excellence in People Analytics เพื่อรับมือความท้าทายและความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในปี 2023 นี้
1. ถึงเศรษฐกิจจะถดถอยแต่เราต้องยึดพนักงานเป็นศูนย์กลาง
การปลดพนักงานเพื่อลดต้นทุนอาจไม่ใช่ทางออกสำหรับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต แต่ฝ่าย HR จำเป็นต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร สร้างเป้าหมายและแรงบันดาลให้กับพนักงาน เพื่อรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพเอาไว้
2. ยุคนี้ต้องทำงานแบบ Hybrid
ทุกวันนี้หลายฝ่ายก็ยังถกเถียงกันว่าการทำงานในออฟฟิศสลับกับที่บ้านนั้นช่วยเพิ่มหรือลดประสิทธิภาพในการทำงานกันแน่ อ้างอิงจากผลสำรวจของ Microsoft Work Trends พบว่า 87 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานกล่าวว่าพวกเขาทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อทำงานจากระยะไกลหรือแบบไฮบริด ในขณะที่มีเพียง 12 เปอร์เซ็นต์ของผู้นำที่มั่นใจว่าพนักงานของเขามีประสิทธิภาพเมื่อทำงานในรูปแบบผสมผสาน HR จึงควรรวบรวมข้อมูลเพื่อหาคำตอบเหล่านี้ให้กับองค์กร เพื่อปรับเปลี่ยนหรือออกแบบการทำงานให้เหมาะกับยุคนี้มากที่สุด
3. สร้างองค์กรที่ยึดทักษะเป็นหลัก
การทำงานในอนาคตอาจไม่จำเป็นต้องยึดตาม ‘ตำแหน่งงาน’ อีกต่อไป แต่องค์กรสามารถสร้างกลไกการทำงานโดยดึงเอา ‘ทักษะ’ ไม่ว่าจะเป็น Soft Skills และ Hard Skills ของพนักงานมารวมกันเพื่อสร้างโมเดลการทำงานรูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพได้
4. ใช้ข้อมูลด้านบุคคลสร้างคุณค่าให้องค์กร
People Analytics คือการเก็บข้อมูลเชิงบุคคลและพัฒนาให้เป็นข้อมูลเชิงลึกที่จะช่วยวิเคราะห์เป้าหมายทางธุรกิจและประสิทธิภาพของพนักงาน การปรับใช้ People Analytics จึงอาจช่วยทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และเพิ่มโอกาสสู่ความสำเร็จมากกว่าเดิม
5. ฟังเสียงของพนักงงาน
การรับรู้และเข้าใจพนักงานอย่างลึกซึ้งอาจสร้างผลตอบแทนให้กับองค์กรได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อทั้งบริษัทและพนักงาน เช่น ความผูกพันและความพึงพอในในงานที่พวกเขาทำ ซึ่งการรับฟังเสียงของพนักงานทำได้โดยใช้ People Analytics และเปิดช่องทางแสดงความคิดเห็นผ่านอีเมล์ แชท ข้อความ กิจกรรมต่างๆ เป็นต้น
6. ให้ความสำคัญกับประสบการณ์และความรู้สึกของมนุษย์
การที่จะบริหารองค์กรให้มีประสิทธิภาพและอยู่รอดในยุคที่เต็มไปด้วยความท้าทาย HR ไม่ควรมองพนักงานเป็นเพียง ‘ทรัพยากร’ เหมือนในอดีต แต่ต้องเข้าใจและปฏิบัติต่อพวกเขาในฐานะ ‘มนุษย์’ ผ่านการสร้าง Human Experience ที่ส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต ซึ่งจะนำไปสู่การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของพนักงาน
7. พัฒนาความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการอยู่ร่วมกัน
การสนับสนุนความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่างของพนักงานในองค์กร ทั้งในด้านเชื้อชาติ เพศ วัฒนธรรม คือแนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาหลายๆ ด้าน เช่น การจ่ายเงินไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติ และการมีอคติต่อเพื่อนร่วมงาน มากไปกว่านั้น องค์กรที่สนุบสนุนเรื่องนี้ยังมีแนวโน้มที่จะสร้างความพึงพอใจของลูกค้าได้มากกว่าด้วย
8. ส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี
พนักงานยุคปัจจุบันมีโอกาสเผชิญกับภาวะหมดไฟได้มากขึ้น ทั้งจากปัญหาการเมือง ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่โรคระบาด องค์กรจึงจำเป็นต้องมีแนวทางการพัฒนาสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานอย่างเป็นระบบ เพราะผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ดีย่อมเกิดจากพนักงานที่เต็มไปด้วยพลังบวก
9. ดำเนินธุรกิจตามแนวคิด ESG
นอกจากความเป็นอยู่ที่ดี พนักงานยุคใหม่ยังต้องการให้องค์กรของตัวเองดำเนินธุรกิจอย่างมีเป้าหมาย รวมถึงส่งเสริมเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำได้ด้วยแนวคิด Environmental, social, and governance (ESG) ที่หมายถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยนโยบายนี้ยังจะช่วยสร้างองค์กรที่โปร่งใสและรับผิดชอบต่อสังคมด้วย
10. เพิ่มทักษะของ HR
ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์จำเป็นต้องพัฒนาทักษะให้เหมาะสมกับยุคดิจิทัล โดยเฉพาะการสร้าง Data-driven Mindset ซึ่งหมายถึงการขับเคลื่อนหรือการดำเนินงานด้วยข้อมูลเป็นหลัก เพื่อแก้ปัญหาและความท้าทายทางธุรกิจ พัฒนาวัฒนธรรมขององค์กร ปรับปรุงประสบการณ์การทำงานของพนักงาน ขับเคลื่อนประสิทธิภาพการทำงาน และเพิ่มผลลัพธ์เชิงบวกให้กับธุรกิจ
Q Hunter - Matching the right people at the first time
บริษัทจัดหางานที่มีตำแหน่งงานดีๆ รอคุณอยู่ ฝาก Resume ไว้ได้เลยที่ Apply here
สนใจบริการสรรหาพนักงานสามารถติดต่อได้ที่ Contact Us