จู่ๆ ช่วงนี้ก็รู้สึกเหนื่อยล้าทั้งกายและใจ ไม่มีแรงจูงใจ ไม่อยากไปทำงาน ไม่มีสมาธิ ทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิม หรือไม่มีความสุขในการทำงาน ฯลฯ อาการเหล่านี้คือสัญญาณของ ‘ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome)’ ซึ่งเป็นโรคที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) มีสาเหตุมาจากความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงาน และกระทบกับสุขภาพของ และทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้
Q Hunter จึงมี 5 วิธีทำงานไม่ให้หมดไฟมาแนะนำ เพื่อให้มนุษย์ออฟฟิศได้ดูแลใจไม่ให้เกิดภาวะ Burnout Syndrome กันไปก่อน เพราะต่อให้คุณเป็นคนรักงานและขยันมากแค่ไหน ก็อาจจะเจอภาวะนี้ได้สักวัน 5 ข้อนี้นอกจากจะทำให้ไม่หมดไฟแล้ว ยังอาจช่วยให้คุณแฮปปี้กับการทำงานมากขึ้นได้นะ
1. ดูภาพรวมภาระงานที่ต้องรับผิดชอบ ถ้ารับมือไม่ไหว อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ
ขั้นตอนแรกควรเริ่มจากการจัดการปริมาณงานที่ต้องรับผิดชอบของเราก่อน ลิสต์ออกมาให้หมดว่างานที่เราต้องทำมีอะไรบ้าง ถ้าเห็นว่าปริมาณงานที่เราต้องทำมีเยอะเกินกว่าที่จะทำคนเดียวได้ให้หันไปขอความช่วยเหลือกับทีม ปรึกษาหัวหน้าเพื่อให้เขาช่วยแบ่งเบาภาระงานของเราไปให้เพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ เพราะบางครั้งเพื่อนร่วมงานก็ไม่รู้ว่าเราต้องแบกรับภาระงานอะไรบ้าง
2. จัดลำดับความสำคัญ เพื่อใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ
แม้ว่าทุกงานที่ต้องทำจะดูเหมือนสำคัญและเร่งด่วนไปหมด แต่ในความเป็นจริงแล้วเราสามารถจัดลำดับความสำคัญและจัดสรรเวลาในการทำงานได้ เมื่อรู้แล้วว่าในแต่ละโปรเจคต์เราต้องทำอะไรบ้าง ต้องระบุลงไปด้วยว่าแต่ละงานมีเดทไลน์วันไหน เรามีเวลาเท่าไรในการจัดการงานเหล่านี้ เพื่อที่เราจะได้ประเมินตัวเองให้ใช้เวลาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอย่าทำทุกอย่างด้วยเวลาที่กระชั้นเกินไป จนเกิดความกดดันและความเครียดสะสมจากการทำงาน
3. อย่าลืมแบ่งเวลาให้ตัวเอง Work-Life Balance ยังสำคัญอยู่
เหตุผลสำคัญที่หลายคนเหนื่อยทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ งานหนักสะสมติดต่อกันหลายวัน ถึงแม้จะมีวันหยุดก็อาจจะไม่รู้สึกว่าได้พักจริงๆ เพราะแค่ 2 วันก็ต้องกลับไปทำงานแล้ว วิธีแก้คือควรหาเวลาให้ตัวเองพักในทุกๆ วัน อาจจะรีบทำงานในเวลางานเพื่อเลิกงานให้เร็วขึ้น จะได้มีเวลาพักผ่อนหลังเลิกงานนานขึ้นก่อนกลับมาสู้ต่อในวันต่อไป อะไรที่ยังไม่ต้องรีบทำ ก็เก็บไว้ทำวันหลังบ้าง หรืออาจจะหางานอดิเรกที่ใช้เวลาไม่นานมากทำหลังเลิกงาน เช่น ออกกำลังกาย นอกจากจะสุขภาพดีแล้วยังช่วยคลายเครียดได้ดี
4. หาเวลาพักในระหว่างทำงาน เพื่อให้สมองได้หยุดคิดบ้าง
เซ็ตเวลาพักให้ตัวเองระหว่างทำงาน เมื่อโฟกัสกับงานไปประมาณ 90-120 นาที ควรหาเวลาพักสัก 10 นาทีเพื่อให้สมองได้หยุดคิดและรีเฟรชบ้าง อาจจะใช้เวลานี้เดินยืดเส้นยืดสาย ดื่มกาแฟ พักทานขนม ไปเข้าห้องน้ำ จะช่วยให้ร่างกายและสมองไม่ล้าจนเกินไป แต่ไม่ควรพักนานจนเกินไปเพราะจะทำให้ไม่มีสมาธิกลับมาจดจ่อกับงานเดิมที่เราทำค้างไว้
5. ใช้เทคโนโลยีทำงาน กำหนดช่วงเวลาตอบข้อความ และออฟไลน์ในวันหยุด
ทุกวันนี้มีโปรแกรมและแอปฯ มากมายที่ช่วยให้การทำงานเป็นทีมของเราง่ายขึ้น เช่น Slack, Monday, Trello, Asana ฯลฯ ควรตั้งค่ากำหนดเวลาการแจ้งเตือนเพื่อที่จะไม่รับข้อความนอกเวลาทำงาน และตั้งสถานะเมื่อเราออกไปข้างนอก รับประทานอาหาร เพื่อให้เพื่อนร่วมงานรู้ว่าเราจะตอบข้อความช้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถ้าจะให้เวิร์ค ควรมีคุยกันในภายในเพื่อให้ทุกคนทำกันจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร เพราะการได้รับแจ้งเตือนและต้องคุยงานตลอดเวลา ทั้งในและนอกเวลางาน ทำให้หลายคนเกิดความเครียดสะสม การเซ็ตเวลาออฟไลน์ของตัวเองเอาไว้ จึงทำให้สมองได้หยุดคิดเรื่องงานบ้าง
Q Hunter - Matching the right people at the first time
บริษัทจัดหางานที่มีตำแหน่งงานดีๆ รอคุณอยู่ ฝาก Resume ไว้ได้เลยที่ Apply here
สนใจบริการสรรหาพนักงานสามารถติดต่อได้ที่ Contact Us