‘ภาษากาย’ คือสิ่งที่ Recruiter ต้องให้ความสำคัญเมื่อมีการสัมภาษณ์งาน เพราะสามารถสะท้อนบุคลิกภาพของผู้สมัครได้ ไม่ว่าจะเป็น สีหน้า ท่าทาง แววตา สิ่งเหล่านี้ล้วนสามารถช่วยเล่าเรื่องสิ่งที่ผู้พูดต้องการสื่อสารได้เป็นอย่างดี ภาษากายจึงเป็นหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้ผู้สัมภาษณ์ประเมิณได้ว่าเรื่องที่ผู้สมัครเล่ามีความน่าเชื่อถือมากแค่ไหน หรือพิจารณาได้ว่าจะรับผู้สมัครคนนี้เข้าทำงานหรือไม่
ในกระบวนการสรรหาพนักงาน Recruiter หรือผู้สัมภาษณ์ จะดู ‘ภาษากาย’ อะไรบ้าง?
คุณกิตติเชษฐ์ ชื่นชุ่ม Managing Partner จาก Q Hunter ผู้มีประสบการณ์ในการสรรหาบุคลากรให้กับบริษัทชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ จะมาแนะนำ ‘5 เทคนิคสังเกตภาษากาย’ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาพนักงานได้รู้วิธีการเตรียมตัวก่อนสัมภาษณ์กัน
1.ท่าทางของร่างกาย (Body Posture) : นั่งหลังตรง ไม่พิงเก้าอี้จนสุด ไม่นั่งงอตัว
ผู้สัมภาษณ์ควรดู ‘ท่านั่ง’ ขณะสัมภาษณ์ ท่านั่งที่เหมาะสมคือ ผู้สมัครควรจะขยับตัวจากพนักพิงเก้าอี้ขึ้นมานิดหนึ่ง หันหน้าไปทางผู้สัมภาษณ์ ไม่เอนหลังพิงจนสุด เพราะท่านั่งเป็นส่วนหนึ่งที่สื่อให้เห็นถึงความสนใจในการตอบคำถามและตั้งใจฟัง ผู้สมัครจึงไม่ควรนั่งหลังงอขณะสัมภาษณ์ เพราะจะทำให้ดูเสียบุคลิก ควรนั่งตัวตรงในท่าที่มั่นคง จะได้สบายตัวและพูดคุยกันได้สะดวก
2. การวางมือ : ประสานมือบนโต๊ะ หรือใช้มือช่วยในการเล่าเรื่องเมื่อจำเป็น แต่ไม่ควรจับผมบ่อยๆ และไม่นั่งกอดอก
ท่าทางการวางมือที่ดี คือผู้สมัครควรวางมือประสานกันบนโต๊ะ และขณะเล่าเรื่องหรือตอบคำถาม สามารถออกท่าทางใช้มือประกอบได้ เพราะการมีภาษากายจะช่วยเติมเต็มคำพูดให้ดูมีอารมณ์ร่วมมากขึ้น หากผู้สมัครเอามือลงขณะพูด อาจจะทำให้เรื่องที่เล่าดูไม่มีน้ำหนักหรือดูไม่ค่อยมีความมั่นใจ แต่ไม่ควรใช้มือเยอะจนเกินไป เพราะอาจจะรบกวนผู้สัมภาษณ์ ที่สำคัญคือไม่ควรนั่งกอดอก เพราะเป็นท่าที่ทำให้รู้สึกระวังตัวและไม่ปลอดภัย จะทำให้การสัมภาษณ์ดูเคร่งเครียดกว่าเดิม
3.การขยับท่าทาง : ไม่ทำท่าทางแปลกๆ ขยับตัวบ่อยๆ จนรบกวนผู้สัมภาษณ์
ในขณะสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์มักจะต้องโฟกัสกับการฟังคำตอบของผู้สมัคร การขยับท่าทางบ่อยๆ ทำท่าทางแปลกๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสัมภาษณ์ อาจจะรบกวนผู้สัมภาษณ์ให้เสียสมาธิได้ เช่น จับคาง กัดฟัน บีบมือ มือเท้าคางเวลาคุย ไม่ควรสัมผัสใบหน้า จับผมบ่อยๆ กุมขมับหรือจับหน้าผากเวลาเล่าเรื่อง เพราะทำให้ผู้สมัครดูเสียบุคลิก และทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกเหมือนผู้สมัครไม่ได้โฟกัสกับการพูดคุย ข้อนี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับตำแหน่งหัวหน้างานและผู้บริหาร เพราะบุคลิกที่ดี ท่าทางที่เหมาะสม จะช่วยทำให้คำตอบฟังดูน่าเชื่อถือมากขึ้นไปด้วย
4.สายตา : สบตาผู้ฟังขณะพูด ใช้สายตาในการเล่าเรื่อง
สายตาคือสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้สัมภาษณ์เข้าใจในอารมณ์ของผู้สมัคร เพราะสายตาสามารถสื่อได้ถึงความจริงใจ ความมั่นใจ ว่าเราสามารถมอบหมายงานนี้ให้คนๆ นี้ทำได้จริงไหม หากผู้ผู้สมัครไม่สบตาขณะตอบคำถาม หรือหลบตาอยู่ตลอด อาจะทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกว่าเรื่องที่เล่ามาไม่ใช่เรื่องจริง โดยเฉพาะตำแหน่งระดับผู้จัดการขึ้นไป ที่ต้องการประสบการณ์และความน่าเชื่อถือ ควรตอบคำถามด้วยความมั่นใจและมองตาผู้ฟังด้วย
5.รอยยิ้ม : ยิ้มและตอบคำถามอย่างเป็นธรรมชาติ
การที่มีรอยยิ้มหรือมีท่าทางที่เป็นมิตร จะสร้างความรู้สึกที่ดีในการสัมภาษณ์ให้กับทั้งสองฝ่าย หากผู้สัมภาษณ์มีรอยยิ้มให้ก่อน จะทำให้ผู้สมัครเปิดใจและสบายใจในการตอบคำถาม ช่วยให้การสัมภาษณ์เป็นไปอย่างผ่อนคลายมากขึ้น การยิ้มของผู้สมัครควรเป็นรอยยิ้มที่มาจากความจริงใจ และวางตัวให้ใกล้เคียงกับบุคลิกจริงของตัวเองมากที่สุด จะช่วยให้การสนทนาเป็นไปอย่างธรรมชาติมากขึ้น ส่วนในงานที่ต้องใช้ความเคร่งขรึมและจริงจังในงานทำงานก็ยังจำเป็นที่ต้องตอบคำถามด้วยความซีเรียส แต่การมีรอยยิ้มให้กันระหว่างสัมภาษณ์จะช่วยให้พูดคุยกันง่ายขึ้น
*คำแนะนำทั้ง 5 ข้อนี้ไม่ใช่ตัวตัดสินว่าผู้สมัครจะผ่านการสัมภาษณ์หรือได้งานหรือไม่ ในแต่ละงานต้องการผู้สมัครที่มีคุณสมบัติและบุคลิกที่แตกต่างกัน ภาษากายจึงเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้การเตรียมตัวสัมภาษณ์เป็นไปได้ด้วยดีเท่านั้น สิ่งสำคัญคือ Recruiter ต้องพิจารณาให้ได้ว่าใครเหมาะกับตำแหน่งงานที่คุณกำลังมองหาอยู่บ้าง
Q Hunter - Matching the right people at the first time
บริษัทจัดหางานที่มีตำแหน่งงานดีๆ รอคุณอยู่ ฝาก Resume ไว้ได้เลยที่ Apply here
สนใจบริการสรรหาพนักงานสามารถติดต่อได้ที่ Contact Us