การจะสรรหาผู้สมัครให้ได้คนที่แมชต์ทั้งกับองค์กรและสมาชิกในทีมได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับยุคนี้ เพราะทุกองค์กรล้วนมีข้อเสนอที่ดึงดูดใจผู้สมัครให้ผู้สมัครอยากร่วมงานด้วย สิ่งสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้ผู้สมัครตัดสินใจเลือกงานในยุคนี้คือ ‘ประสบการณ์ในการสัมภาษณ์’ ดังนั้นผู้สัมภาษณ์จึงควรเตรียมตัวให้พร้อมและทำงานอย่างมืออาชีพ เพราะทุกคำถามล้วนมีผลต่อการพิจารณาตัดสินใจมาร่วมงานของผู้สมัคร
Q Hunter จึงมี 7 เทคนิคสัมภาษณ์ผู้สมัครให้ได้คนที่แมชต์กับองค์กรมาแนะนำ เพื่อที่ผู้สัมภาษณ์จะได้เตรียมตัวให้พร้อมอย่างเป็นมืออาชีพ และช่วยสร้างความประทับใจให้ผู้สมัครอยากมาร่วมงานกับเราให้ได้
1. เตรียมคำถามให้ตรงกับตำแหน่งที่กำลังมองหา
ก่อนจะเปิดรับสมัครต้องเตรียม Job Description ให้พร้อม ลงรายละเอียดให้ชัดเจนว่าตำแหน่งนี้ต้องทำอะไร มีคุณสมบัติอย่างไร และต้องมีทักษะอะไรเป็นพิเศษบ้าง เพื่อที่ผู้สัมภาษณ์จะได้สามารถเตรียมคำถามให้ตรงกับตำแหน่งที่กำลังมองหา เพราะคำถามในการสรรหาพนักงานแต่ละตำแหน่ง แต่ละระดับ ก็แตกต่างกันไป เมื่อมี Job Description ที่ชัด จะช่วยให้ผู้สัมภาษณ์ออกแบบคำถามที่เฉพาะเจาะจงได้มากขึ้น
2. อ่านประวัติผู้สมัครก่อนสัมภาษณ์ เพื่อนำไปเตรียมคำถาม
การอ่านประวัติผู้สมัครล่วงหน้าจะแสดงให้เห็นถึงการเตรียมตัวอย่างมืออาชีพและแสดงถึงความใส่ใจของผู้สัมภาษณ์ ระหว่างอ่านควรจดโน๊ตประเด็นสำคัญเพื่อนำไปตั้งคำถาม จะช่วยลดขั้นตอนการถามคำถามพื้นฐานที่มีอยู่ในเรซูเม่ ตั้งประเด็นคำถามได้ชัดเจนและเจาะจงมากขึ้น ทำให้บทสนทนาระหว่างผู้สมัครและผู้สัมภาษณ์ลื่นไหลอีกด้วย
3. วางประเด็นที่จะคุยให้ชัดเจน มีคำถามเปิด-ปิดเพื่อให้บทสนทนาลื่นไหล
หลังจากทราบแล้วว่าตำแหน่งนี้เราต้องการคนแบบไหน ขั้นตอนต่อมาคือการกำหนดประเด็นและเรียงลำดับคำถามเตรียมคำถามเปิด-ปิด เอาไว้ใช้เพื่อเริ่มและจบบทสนทนา เพื่อให้ทุกคำถามเชื่อมโยงกัน ผู้สัมภาษณ์ไม่ควรถามสดโดยไม่เตรียมตัวก่อน เพราะอาจจะทำให้คำถามวกไปวนมา และทำให้ผู้สมัครรู้สึกว่าผู้สัมภาษณ์ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน
4. เตรียมตัวตอบคำถามผู้สมัคร
เวลาสัมภาษณ์ผู้สมัครมักจะมีคำถามกลับ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นคำถามที่ผู้สัมภาษณ์ทราบอยู่แล้ว หากเราทำการบ้านไปก่อน มีการเตรียมตัวมาอย่างดี จะทำให้ประสบการณ์การสัมภาษณ์ของผู้สมัครกับบริษัทของเราดีขึ้นไปอีก หากเราตอบได้ไม่ดี จะทำให้ดูไม่เป็นมืออาชีพ ผู้สมัครรู้สึกเสียความเชื่อมั่น และไม่แน่ใจว่าควรร่วมงานกับที่นี่ไหม
ตัวอย่างคำถามที่ถามบ่อย เช่น กลยุทธ์และเป้าหมายของบริษัท, โครงสร้างการทำงานภายในองค์กร, สวัสดิการและรายได้ของตำแหน่งนี้, โปรเจคที่ต้องเข้ามาร่วมในทีมนี้มีเป้าหมายอย่างไร ฯลฯ ข้อควรระวังคือ ไม่ควรเปิดเผยความลับทางธุรกิจให้ผู้สมัครทราบ
5. ประสานงานกับผู้สัมภาษณ์คนอื่น เพื่อให้ประหยัดเวลา และไม่ถามซ้ำกัน
ในบางองค์กรก่อนจะรับพนักงานใหม่ได้ต้องมีการสัมภาษณ์หลายขั้นตอน เพื่อร่วมกันพิจารณาหาคนที่เหมาะสมกับทีมมากที่สุด ผู้สัมภาษณ์ทุกคนจึงควรประสานงานกันก่อนสัมภาษณ์เพื่อไม่ให้เกิดการทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน เช่น แชร์ประเด็นคำถามกัน และแบ่งพาร์ทกันสัมภาษณ์เพื่อให้การสัมภาษณ์แต่ละครั้งมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน จะช่วยให้ผู้สัมภาษณ์ประหยัดเวลา และทำให้ผู้สมัครได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น
6. จัดการตารางเวลาการสัมภาษณ์ให้ดี เคลียร์คิวก่อนเริ่มสัมภาษณ์ 15 นาที
ผู้สัมภาษณ์ควรเคลียร์ตารางงานให้เรียบร้อย เพื่อเตรียมตัวก่อนสัมภาษณ์ 15 นาที ไม่ควรให้ผู้สมัครรอนาน เพราะอาจจะทำให้ผู้สมัครรู้สึกว่าการทำงานในองค์กรนี้ตารางแน่น จัดตารางงานได้ไม่ดี ซึ่งเป็นมุมมองที่ส่งผลเสียต่อการสัมภาษณ์ได้เช่นกัน
7. รู้จุดขายองค์กร จูงใจให้ผู้สมัครอยากร่วมงานกับเราให้ได้
เมื่อเจอผู้สมัครที่ใช่ แต่เขายังไม่ชอบองค์กรเรา 100% ผู้สัมภาษณ์ควรจะมี Sale Skills สามารถขายองค์กรของเราให้กับผู้สมัครได้ โดยการเตรียมข้อมูลที่เป็นจุดขายขององค์กรเอาไว้ เพื่อทำให้ผู้สมัครเห็นภาพชัดและอยากมาทำงานกับองค์กรของเรา เช่น แชร์วัฒนธรรมองค์กร, รูปแบบการทำงาน, สวัสดิการ, ผลตอบแทน ฯลฯ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้สมัครคนนี้เลือกทำงานกับเรา
———————————————————————————————
Q Hunter - Matching the right people at the first time
บริษัทจัดหางานที่มีตำแหน่งงานดีๆ รอคุณอยู่ ฝาก Resume ไว้ได้เลยที่ Apply here
สนใจบริการสรรหาพนักงานสามารถติดต่อได้ที่ Contact Us