เราควรให้ Feedback อย่างไรดี ที่จะทำให้พนักงานไม่รู้สึกแย่ และสามารถนำความเห็นไปปรับปรุงอย่างมีประสิทธิภาพ
การให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะ (Feedback) จะช่วยให้พนักงานทราบว่าคุณมีความต้องการหรือมีความคาดหวังอะไรจากพวกเขาบ้าง เพราะการให้ความเห็นที่ดีจะช่วยสนับสนุนให้พวกเขาเกิดการเรียนรู้ พัฒนา และเป็นส่วนหนึ่งของทีมมากขึ้นด้วย สิ่งสำคัญคือการให้ความความคิดเห็นนี้ ควรจะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำเมื่อมีการประเมิณเท่านั้น
ในฐานะผู้จัดการหรือหัวหน้าทีม คุณจะมีวิธีอย่างไรในการเสนอความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อต้องพูดเกี่ยวกับปัญหาหรือข้อบกพร่องที่พนักงานจำเป็นต้องปรับปรุง
วันนี้ Q Hunter ได้สรุปคำนำแนะนำของ David Jones กรรมการผู้จัดการของ Protiviti บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกที่ให้บริการให้คำปรึกษาด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ มาให้แล้ว มาดูกันว่า 7 วิธีนี้มีอะไรบ้าง
1. พูดถึงปัญหาอย่างเฉพาะเจาะจง
สิ่งสำคัญที่ควรทพเมื่อต้องการบอกให้พนักงานปรับปรุงหรือทำงานให้ดีขึ้น ควรบอกเหตุผลด้วยว่าทำไมต้องทำสิ่งนี้ เพราะบางครั้งเขาอาจจะไม่เข้าใจปัญหา หรือไม่เห็นบริบททั้งหมด เช่น หากต้องการทำงานให้เร็วขึ้น หรือทำงานให้ตรงต่อเวลา ต้องบอกไปเลยว่งานนี้มีใครกำลังรออยู่บ้าง การที่เขาทำงานล่าช้าจะส่งผลเสียอย่างไร และกระทบธุรกิจอย่างไรบ้าง ยิ่งคุณแสดงความเห็รแบบเฉพาะเจาะจงมากเท่าใด พนักงานก็ยิ่งปรับปรุงได้เร็วขึ้น
2. พูดถึงสถานการณ์ ไม่ใช่ตัวบุคคล
การให้ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ควรพูดอย่างเป็นกลาง มุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์หรือสถาณการณ์ ไม่ใช่การตำหนิคุณลักษณะส่วนบุคคลของพนักงาน เพราะคำติชมที่มุ่งเน้นไปที่ตัวบุคคลอาจทำให้พนักงานรู้สึกเหมือนถูกโจมตี ควรพูดคุยถึงสถานการณ์เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และไม่วิจารณ์บุคลิกภาพของพนักงาน
3. ให้คำชมเมื่อมีโอกาส
การให้ข้อเสนอแนะในเชิงบวกแก่พนักงานก็มีความสำคัญเช่นกัน และการรับทราบข้อดีท่ามกลางข้อเสียจะช่วยสร้างความมั่นใจให้พวกเขาว่าคุณไม่ได้คอยจับผิดอย่างเดียว ในแต่ละงานก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้ามีเรื่องดีก็ควรชม อย่าทำให้พนักงานรู้สึกว่าคำวิจารณ์ของคุณหมายถึงผลงานทั้งหมด หรือสิ่งที่เขาทำมาไม่มีคุณค่าเลย
4. ตรงไปตรงมาแต่ไม่เป็นทางการ
หากต้องการให้ข้อเสนอแนะ ควรหาพื้นที่เงียบสงบเพื่อพูดคุยกัน ควรพูดต่อหน้า ตรงประเด็น และไม่ต้องเป็นทางการมากเกินไป พยายามอย่าใช้เทคโนโลยี เช่น อีเมล ข้อความ หรือโทรศัพท์เพื่อถ่ายทอดความคิดเห็นของคุณ เพราะอาจทำให้อีกฝ่ายตีความหมายผิดและทำให้เรื่องที่ต้องการพูดดูสำคัญน้อยลง
5. มีความจริงใจ
เสียงและกิริยาท่าทางของคุณควรเข้ากับบริบทของคำติชม หากจะให้คำชม ควรพูดและแสดงสีหน้าให้ผู้ฟังรู้สึกว่าคุณซาบซึ้งในความพยายามของพวกเขาด้วย แต่ถ้าหากจะแสดงความคิดเห็นเชิงลบ น้ำเสียงควรมีความเป็นกังวล จริงจัง แต่ไม่ควรแสดงอารมณ์ด้านลบ เช่น ความโกรธ การเสียดสี หรือความผิดหวัง
6. รับฟังพนักงานของคุณ
เมื่อคุณให้ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าพนักงานของคุณได้รับโอกาสในการตอบกลับหรือเปล่า เพราะมันควรจะเป็นบทสนทนาระหว่างคุณทั้งคู่ มากกว่าที่คุณจะพูดอยู่คนเดียว การได้พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา คือโอกาสที่พนักงานจะได้แสดงความคิดเห็นกับคุณ และเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาไปด้วยกัน
7. ทำทันที
เมื่อพนักงานประสบความสำเร็จ ควรจะได้รับคำชมทันที และในขณะเดียวกันเมื่อมีปัญหา ก็ควรจะรีบให้คำแนะนำเพื่อจะได้แก้ไขได้ทันที แต่ในกรณีที่สถาณการณ์นี้ทำให้คุณโมโหหรือรู้สึกแย่มากจริงๆ ควรจะ
รอจนกว่าอารมณ์จะเย็นลง เพื่อที่จะได้พูดคุยกันด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่ใส่อารมณ์มากจนเกินไป และจะทำให้การพูดคุยเป็นไปด้วยดีมากกว่า
Source :
Seek | https://bit.ly/3qgRwLi
—-------------------------
Q Hunter - บริษัทจัดหางาน
ตำแหน่งงานดีๆ รอคุณอยู่ ฝาก Resume ไว้ได้เลยที่ www.qhunter.co.th
Q Hunter - Matching the right people at the first time
บริษัทจัดหางานที่มีตำแหน่งงานดีๆ รอคุณอยู่ ฝาก Resume ไว้ได้เลยที่ Apply here
สนใจบริการสรรหาพนักงานสามารถติดต่อได้ที่ Contact Us